ระบบนิเวศขั้นโคม่า ของอุตสาหกรรมสื่อและโฆษณา

Publish date : 20/062564

Insights

ในสถานการณ์การรับมือโควิดที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าการสื่อสารจากภาครัฐ สับสน ไม่ชัดเจน ขาดการบูรณาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรียกได้ว่าเป็นการสื่อสารที่ขาดประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อข้อมูลที่ภาครัฐพยายามสื่อสาร และเกิดความสูญเสียในวงกว้าง
การสื่อสารระหว่างภาครัฐกับประชาชน จำเป็นต้องได้รับการพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นนัยยะ โดยเฉพาะการสื่อสารในหัวข้อดังต่อไปนี้
  • การสื่อสารเรื่องการกระจายวัคซีน และประสิทธิภาพของวัคซีน
  • การสื่อสารเรื่องมาตรการต่างๆที่จะบังคับใช้เพื่อควบคุมการระบาดหนัก ควบคู่แผนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
  • การสื่อสารเรื่องการเข้าถึงระบบสาธารณะสุขของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคัดกรอง การรักษาผู้ติดเชื้อในระดับต่างๆเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
อุตสาหกรรมสื่อและโฆษณาเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์ข้างต้นที่กล่าวมา บุคลากรที่เกี่ยวข้องและอยู่ในระบบนิเวศนี้ ใหญ่กว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นคนในวงการเอเจนซี่สื่อโฆษณา สื่อสารมวลชน ผู้ประกอบการสื่อ ผู้ผลิต ผู้จัดงานกิจกรรมต่างๆ
ไม่เพียงเท่านั้น ระบบนิเวศนี้รวมไปถึง ผู้ประกอบการและลูกจ้างอีกหลากหลายสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจโรงพิมพ์ไม่ว่าจะสื่อสิ่งพิมพ์หรือแม้แต่ไวนิลสำหรับป้ายบิลบอร์ด ธุรกิจการจัดอาหารงานเลี้ยง ธุรกิจขายหรือให้เช่าเวทีแสงสีเสียง วิชาชีพเฉพาะทางต่างๆเหล่านี้เป็นต้น
จริงๆแล้วระบบนิเวศนี้ได้รับผลกระทบมาก่อนแล้วจาก Digital Disruption ในช่วง 5-6ปีที่ผ่านมา ธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวกันอย่างหนักหน่วง ล้มเจ็บบ้าง ปรับตัวไม่รอดก็ไปต่อไม่ไหว ปรับตัวสำเร็จก็เยอะ
วิกฤตโควิดระลอกที่1 เมื่อต้นปีที่แล้วเปรียบเหมือนมรสุมที่ซัดอุตสาหกรรมติดลบหนักสุดในรอบ 20ปี คือติดลบไปเกือบ 20% มูลค่าเม็ดเงินหดตัวเหลือ 75,000 ล้านบาท (ประเมินมูลค่าโดย MI)
ในช่วงปลายไตรมาส4 ปีที่แล้วจนถึงไตรมาส 1ปีนี้ สัญญาณการฟื้นตัวเริ่มมีให้เห็นบ้างในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมสื่อและโฆษณานี้ จากปัจจัยโควิดที่ดูเหมือนควบคุมได้จากมาตรการ lock down ซึ่งแลกมาด้วย การสูญเสียเม็ดเงินของภาคธุรกิจ ในความเชื่อที่ว่า “แม้ต้องเจ็บแต่ก็จบ” และความหวังจากข่าวที่ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนที่เริ่มมีให้เห็นลางๆ แม้จะมี cluster ต่างๆมากวนใจบ้างก็ตาม แต่ก็พอจะฟื้นความเชื่อมั่นและความหวังให้คนในระบบนิเวศนี้ฮึดสู้ต่อ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น การระบาดระลอก 3-4 เหมือนเป็นมรสุมลูกใหญ่ยักษ์ที่ซัดคนไทยเกือบทุกคน ไม่เว้นอุตสาหกรรมนี้อย่างไม่ยั้ง กินเวลายาวนานมากกว่า 4 เดือน และมีแนวโน้มลากยาวต่อไป
การประเมินสถานการณ์และการตั้งรับในครั้งนี้ พวกเราจำเป็นต้องมองโลกในแง่ร้ายที่สุด และอยู่กับความจริงที่สุด เพื่อออกแบบแผนตั้งรับและเอาตัวรอดให้ได้ยาวนานและยั่งยืนที่สุด
ทางกลุ่มเอ็มไอ (MI Group) ได้ปรับการประเมินจากปัจจัยและสถานการณ์ล่าสุดว่าเม็ดเงินอุตสาหกรรมในปีนี้ทั้งปีอาจติดลบลงไปอีก 3-5% เมื่อเทียบจากปีที่แล้วซึ่งถือว่าเป็นปีที่เลวร้ายและตกต่ำสุดในรอบ 20ปี (เดิมทาง MI Group ได้เคยประเมินไว้ช่วงต้นปีก่อนระลอก3 ว่าปีนี้อุตสาหกรรมสื่อโฆษณาในปีนี้มีโอกาสฟื้นตัวดีและบวกได้เกือบ 10% ซึ่งจะส่งผลดีต่อคนในวงกว้างของระบบนิเวศนี้) เป็นผลมาจากวิกฤตโควิดที่ยืดเยื้อ มาตรการต่างๆที่ยกระดับและยาวนานขึ้น ความบอบช้ำและสาหัสของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs รวมถึงประชาชน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการจับจ่าย กำลังซื้อหดตัว และวิกฤตความสามารถในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มฐานราก
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าวัคซีนเป็นทางออกเดียวเท่านั้นที่สามารถการันตีการฟื้นตัวของทุกอุตสาหกรรม และไม่อาจปฏิเสธเช่นเดียวกันว่า ก่อนที่เราจะได้วัคซีนที่เหมาะสม ในระหว่างทางนั้น การสื่อสารของรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้กำหนดชีวิตของเราทุกคนต้องมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่
ทุกการกระทำ ทุกการตัดสินใจ ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อทั้งภาคธุรกิจและประชาชน ซึ่งถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้  วิกฤตโควิดคงไม่ดำเนินมาถึงสถานการณ์โคม่าและสาหัสเท่านี้
กลุ่มเอ็มไอ (MI Group) ขอร่วมเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนบุคลากรในทุกสาขาอาชีพ แม้สถานการณ์นี้ยังหนักหน่วงและคงไม่สิ้นสุดง่ายๆในเร็ววันนี้
ขอส่งแรงใจให้เพื่อนร่วมอุตสาหกรรมสามารถยืนหยัดและก้าวผ่านสถานการณ์อันเลวร้ายไปด้วยกันให้ได้ ผ่านการเรียนรู้ รู้จักปรับตัวและพร้อมปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง
ท่ามกลางวิกฤตโควิดในครั้งนี้ เชื่อว่าเราทุกคนล้วนต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่ เพื่อให้องค์กรสามารถเดินหน้าได้  เราจึงต้องมีการปรับรูปแบบการขับเคลื่อนองค์กร เช่นนโยบาย WFH อย่างมีประสิทธิภาพ ไปจนถึง Business Model & Services ใหม่ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่เราจำเป็นต้องปรับเพื่อความอยู่รอด เติบโต และยั่งยืน
หากเราผ่านวิกฤติครั้งนี้กันไปได้ เชื่อว่า “ระบบภูมิคุ้มกันองค์กร” ของเราหรือ Corporate Immune System ต้องแข็งแกร่งขึ้นอย่างแน่นอนและเราจะพร้อมเผชิญกับ disruptions หรือ วิกฤตต่างๆในอนาคต ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใดก็ตาม
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
https://www.posttoday.com/economy/news/658619
https://www.thansettakij.com/general-news/488598